ขนาดตัวอักษร เล็ก ปกติ ใหญ่

ข้อเปรียบเทียบระหว่างสหกรณ์กับธุรกิจอื่น

 

สหกรณ์กับองค์กรธุรกิจรูปอื่น มีลักษณะคล้ายกันในข้อที่มีการรวมทุนและมีการประกอบธุรกิจซื้อ-ขาย แต่มีหลักการที่แตกต่างกันหลายประการ ดังต่อไปนี้

          1. สหกรณ์กับห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด
                  1.1 วัตถุประสงค์ การรวมกันเป็นสหกรณ์มีความมุ่งหมายเพื่อต้องการให้บริการแก่สมาชิกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนรวบรวมผู้ถือหุ้นจัดตั้งขึ้น เพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก
                  1.2 ลักษณะการรวม สหกรณ์เป็นองค์กรของผู้มีกำลังทรัพย์น้อย ไม่อาจถือเอาทุนเป็นหลักในการรวมได้ สหกรณ์ถือว่าการรวมคนเป็นหลักสำคัญ และเพื่อให้กลุ่มคนที่รวมกันมีกำลังเข้มแข็ง สหกรณ์จึงต้องมีการกำหนดและคัดเลือกลักษณะตลอดจนคุณสมบัติของสมาชิกที่จะเข้าร่วมในสหกรณ์ ส่วนในบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนนั้นถือหลักการรวมทุนเป็นสำคัญ บุคคลทีมีเงินสามารถเข้าถือหุ้นของบริษัทได้ ไม่เลือกว่าบุคคลนั้นจะมีลักษณะนิสัยอย่งไรหรืออยู่ใกล้ไกลเพียงใด การรวมกันในสหกรณ์เป็นการรวมของผู้ที่อ่อนแอในทางทรัพย์ให้มีกำลังเข้มแข็งขึ้น เพื่อมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ส่วนการรวมกันของบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนเป็นการรวมผู้ที่มีกำลังทรัพย์อยู่แล้ว ให้มีกำลังเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อทำการค้าหากำไร
                  1.3 หุ้นและมูลค่าหุ้น หุ้นของสหกรณ์ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องกำหนดจำนวนทุนเรือนหุ้นไว้ก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ดังนั้น สหกรณ์จึงมีหุ้นที่จะจำหน่ายให้แก่สมาชิกใหม่อยู่เสมอ ราคาหุ้นของสหกรณ์จะคงที่ มูลค่าหุ้นของสหกรณ์ มักกำหนดไว้ค่อนข้างต่ำเพื่อเปิดโอกาสให้ผุ้มีกำลังทรัพย์น้อยเข้าเป็นสมาชิกได้ สำหรับหุ้นของบริษัทจำกัด กฎหมายบังคับให้ต้องกำหนดจำนวนทุนเรือนหุ้น และต้องมีผู้จองหุ้นไว้ครบจำนวนก่อนขอจดทะเบียนตั้งขึ้นเป็นบริษัทด้วยเหตุนี้ถ้ากิจกรรมของบริษัทสามารถจ่างเงินปันผลได้สูงก็มีผู้ต้องการซื้อหุ้นของบรษัทจึงอาจขึ้นลงได้เหมือนสินค้าอย่างหนึ่ง นอกจากนี้มูลค่าหุ้นของบริษัทมักกำหนดไว้สูงเพื่อให้เงินทุนตามจำนวนที่ต้องการโดยคนถือหุ้นจะมีจำนวนมากหรือน้อยไม่ถือเป็นข้อสำคัญ
                  1.4 การควบคุมและการออกเสียง สหกรณ์ถือหลักการรวมคนจึงให้ความเคารพต่อสิทธิของบุคคลเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้สมาชิกของสหกรณ์ทุกคนไม่ว่าจะถือหุ้นมากหรือน้อยย่อยมีสิทธิออกเสียงลงคุแนนให้สหกรณ์ได้คนละหนึ่งเสียงเหมือนกันหมดยกเว้นผู้แทนสหกรณ์ในระดับชุมนุมสหกรณ์อาจให้มีเสียงเพิ่มขึ้นตามระบบสัดส่วน ตามที่กำหนดในข้อบังคับของชุมนุมสหกรณ์นั้นก็ได้ (มาตรา 106) และสมาชิกต้องมาใช้สิทธิออกเสียงด้วยตนเอง จะมอบให้บุคคลอื่นมาออกเสียงแทนไม่ได้ ดังนั้นอำนาจในสหกรณ์จึงตกอยู่กับเสียงข้างมากของสมาชิก ส่วนบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วน ซึ่งถือหลักการรวมทุนจึงให้ความเคารพในเงินทุนค่าหุ้นเป็นสำคัญ โดยการให้สิทธิออกเสียงตามจำนวนหุ้นที่ถือ และยัง         สามารถมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมาออกเสียงแทนได้ อำนาจในบริษัทจึงตกอยู่กับผู้ถือหุ้นมาก กล่าวคือทุนมีบทบาทในการประชุมด้วยนั่นเอง
                  1.5 การแบ่งกำไร จากการที่สมาชิกทำธุรกิจซื้อขายกับสหกรณ์จึงทำให้เกิดกำไรหรือเงินส่วนเกินขึ้น ดังนั้นการแบ่งกำไรของสหกรณ์จึงเท่ากับการจ่ายคือส่วนที่สหกรณ์รับเกินให้สมาชิกในรูปการจ่ายเงินเฉลี่ยคืน ตามส่วนแห่งปริมาณธุรกิจที่สมาชิกทำกับสหกรณ์และจำนวนหุ้นที่ถือ สำหรับบริษัทจำกัดจะทำการติดต่อซื้อขายกับบุคคลภายนอกสมาชิกบริษัทลงทุนถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงถือหลักการแบ่งเงินปันผลตามหุ้นที่ถือ ไม่ได้คำนึงถึงว่าผู้ถือหุ้นจะมีการติดต่อซื้อขายกับบริษัทหรือไม่

เราอาจเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างสหกรณ์กับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด ได้ดังนี้

ลักษณะ สหกรณ์ ห้างหุ้นส่วน/บริษัท จำกัด
1. วัตถุประสงค์ ดำเนินธุรกิจและบริการเพื่อช่วยเหลือสมาชิก ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดำเนินธุรกิจเพื่อการค้า ทำธุรกิจกับบุคคลภายนอกเพื่อแสวงหากำไรให้มากที่สุด 
2. ลักษณะการรวมกัน มุ่งด้านการรวบรวมคนมากกว่าทุน มุ่งด้านการรวบรวมทุนต้องการทุนในการดำเนินงานมาก 
3. หุ้นและมูลค่าหุ้น ราคาหุ้นคงที่และมีอัตราต่ำเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถือหุ้นได้ หุ้นมีจำนวนไม่จำกัด  ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงตามฐานะของกิจการ จำนวนหุ้นมีจำกัด 
4. การควบคุม และการออกเสียง ควบคุมตามแบบประชาธิปไตย สมาชิกออกเสียงได้คนละหนึ่งเสียง (ยกเว้นระดับชุมนุมสหกรณ์) และออกเสียงแทนกันไม่ได้ ออกเสียงได้ตามจำนวนหุ้นที่ถือและออกเสียงแทนกันได้
5. การแบ่งกำไร การแบ่งกำไรจะแบ่งตามความมากน้อยของการทำธุรกิจกับสหกรณ์ และจำนวนหุ้นที่ถือ การแบ่งกำไร แบ่งตามจำนวนหุ้นที่ถือ ถือหุ้นมากได้เงินปันผลคืนมาก

          2. สหกรณ์กับรัฐวิสาหกิจ
                  การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ จะดำเนินการโดยรัฐบาลหรือในนามของรัฐบาลไม่ใช่กิจกรรมของเอกชน งานของรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องสาธารณูปโภค เช่น การรถไฟ การสื่อสารไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ เป็นต้น กิจการเหล่านี้มุ่งในด้านให้สวัสดิการแก่ประชาชน ส่วนสหกรณ์นั้นเป็นของสมาชิกดำเนินธุรกิจ เพื่อต้องการจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่สมาชิก


          3. สหกรณ์กับองค์กรการกุศล
                  องค์กรการกุศลมีจุดมุ่งหมายเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากจนหรือทุพพลภาพให้พ้นจากความยากลำบาก เป็นการช่วยเหลือจากภายนอก ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมให้ช่วยตนเอง จึงอาจจะทำให้ผู้ได้รับการสงเคราะห์มีลักษณะนิสัยอ่อนแอลงไปอีก ส่วนสหกรณ์นั้นส่งเสริมให้สมาชิกมีลักษณะนิสัยเข้มแข็งนอกจากนี้ประโยชน์ที่ได้รับจากสหกรณ์ย่อมถาวรกว่าการช่วยเหลือขององค์กรการกุศล


          4. สหกรณ์กับสหภาพแรงงาน
                  ในสภาพแรงงานบรรดาลูกจ้างจะรวมกันโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เกิดกำลังเป็นปึกแผ่น เพื่อต่อรองกับนายจ้างในเรื่องผลประโยชน์ของการทำงานหรือสวัสดิการของลูกจ้าง บางครั้งอาจใช้วิธีการรุนแรงเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามที่ลูกจ้างเรียกร้อง สำหรับการร่วมมือกันแบบสหกรณ์นั้นสมาชิกจะร่วมมือกันจัดการประกอบการขึ้น แล้วสมาชิกก็อาศัยบริการนั้นให้เป็นประโยชน์แก่อาชีพหรือการครองชีพของสมาชิกร่วมกัน การทำงานของสหกรณ์เป็นวิธีการที่ไม่ก่อความเดือดร้อนหรือเรียกร้องให้ใครช่วยแต่จะติดต่อกับบุคคลภายนอกเกี่ยวกับธุรกิจซื้อขายตามปกติ

  • ฮิต: 758

คุณค่าสหกรณ์

 

"คุณค่าของสหกรณ์" 
(Cooperative Values)

 
          “สหกรณ์อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการช่วยตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และความเป็นเอกภาพ สมาชิกสหกรณ์เชื่อมั่นในคุณค่าทางจริยธรรมแห่งความสุจริต ความเปิดเผย ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น โดยสืบทอดประเพณีปฏิบัติของผู้ริเริ่มการสหกรณ์"
  • ฮิต: 806

กองทุนพัฒนาสหกรณ์

การจัดตั้ง “เงินทุนส่งเสริมการสหกรณ์”
            ในปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณให้ไว้เป็นทุนช่วยเหลือสหกรณ์ประเภทต่างๆ เช่น สหกรณ์ขายข้าวและพืชผลร้านสหกรณ์และสหกรณ์นิคมกสิกรรม ฯลฯ โดยมอบให้กรมสหกรณ์ กระทรวงเกษตราธิการเป็นผู้พิจารณาจัดสรรให้สหกรณ์ประเภทต่างๆ กู้เพื่อเป็นทุน เรียกว่า“ทุนส่งเสริมการสหกรณ์” โดยให้สหกรณ์ประเภทต่างๆ นอกจากสหกรณ์ประเภทหาทุนกู้ไปขยายกิจการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น สหกรณ์ที่ได้รับความช่วยเหลือนี้ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ที่ดินและสหกรณ์พาณิชย์ ต่อมากระทรวง การคลังได้เห็นชอบให้รวม เงินทุนส่งเสริมการสหกรณ์ต่างๆ ที่ได้รับจากเงินงบประมาณปี 2491 และปี 2492 เข้าด้วยกัน ซึ่งขณะนั้นมี จํานวนเงินทั้งสิ้น 25.768 ล้านบาท จัดตั้งเป็น “เงินทุนส่งเสริมการสหกรณ์” เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2493 หลังจากนั้นรัฐบาลได้ให้งบประมาณเพิ่มเติมเป็นรายปีจนถึงสิ้นปี พ.ศ.2500 มีเงินทุนรวมทั้งสิ้น 91.904 ล้านบาท (ตามรายงานครบรอบ 50 ปีของสหกรณ์ในประเทศไทย) ต่อมาได้มีการจัดตั้งเงินทุนต่างๆ เพื่อส่งเสริมกิจการสหกรณ์อีก ดังนี้
                      ปี 2509 เงินทุนหมุนเวียนจัดสหกรณ์ที่ดินและอาคาร
                      ปี 2513 เงินทุนหมุนเวียนจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม
                      ปี 2518 เงินทุนหมุนเวียนโครงการเร่งรัดพัฒนาดินเปรี้ยวเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
                      ปี 2520 เงินทุนหมุนเวียนให้สหกรณ์ร้านค้ากู้ยืม
                      ปี 2520 เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อให้สหกรณ์การเกษตรกู้ยืมสําหรับสร้างฉาง ซื้อและปรับปรุงที่ดิน
                      ปี 2523 เงินทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จํากัด

การจัดตั้ง “เงินทุนหมุนเวียนสหกรณ์”
            ในปี พ.ศ.2526 กรมส่งเสริมสหกรณ์พิจารณาเห็นว่า เงินทุนหมุนเวียนที่อยู่ในความดูแลของกรมฯ มีอยู่หลายเงินทุน แต่ละเงินทุนมีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะ ทําให้การใช้ประโยชน์จากแต่ละเงินทุนมีจํากัด กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ทําความตกลงกับกระทรวงการคลังเพื่อขอรวมเงินทุนต่างๆ เข้าด้วยกัน และกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบตามหนังสือ ที่ กค 0507/119 ลงวันที่ 4 มกราคม 2527 ให้รวมเงินทุนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น จํานวน 7 เงินทุน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเข้าเป็นเงินทุนหมุนเวียนเดียวกัน รวมเป็นเงิน 339.442 ล้านบาท ใช้ชื่อว่า “เงินทุนหมุนเวียนส่งเสริมการสหกรณ์” ขึ้นในกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ใช้เป็นเครื่องมือสําหรับส่งเสริมและพัฒนางานสหกรณ์ โดยการสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ําให้สหกรณ์ต่าง ๆ กู้ยืมไปดําเนินธุรกิจให้บริการแก่สมาชิก แต่เนื่องจากความต้องการใช้เงินทุนมีจํานวนมาก ไม่สามารถจะพิจารณาสนับสนุนให้แก่ทุกสหกรณ์ได้ เพราะจํานวนเงินมีจํากัด ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ขอตั้งงบประมาณประจําปี เพื่อขอเพิ่มจํานวนเงินทุน และได้รับงบประมาณ ดังนี้
                      ปี 2533 ได้รับเงินงบประมาณ จํานวน 6.254 ล้านบาท
                      ปี 2534 ได้รับเงินงบประมาณตามโครงการจัดการผลิตและการตลาดกระเทียมหอมแดงและหอมหัวใหญ่ จํานวน 100.000 ล้านบาท
                      ปี 2535 ได้รับเงินงบประมาณ จํานวน 49.000 ล้านบาท (โครงการนิคมสหกรณ์อีสานพัฒนา จํานวน40.000 ล้านบาท โครงการส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกสหกรณ์ที่ประสบภัยจากไต้ฝุ่นเกย์ 9.000 ล้าน
บาท)
                      ปี 2536 ได้รับเงินงบประมาณ จํานวน 30.000 ล้านบาท (โครงการส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกสหกรณ์ที่ประสบภัยจากไต้ฝุ่นเกย์ 9.000 ล้านบาท โครงการเร่งรัดเพิ่มผลผลิตสหกรณ์ ผู้ใช้น้ํา 10.000 ล้าน
บาท โครงการพัฒนาเกษตรผสมผสานในเขต นิคมสหกรณ์ 11.000 ล้านบาท)
                      ปี 2538 ได้รับเงินงบประมาณสําหรับให้สหกรณ์ขนาดเล็กไม่มีแหล่งเงินทุนกู้ยืม จํานวน 200.000ล้านบาท
                      ปี 2539 ได้รับเงินงบประมาณ จํานวน 700.000 ล้านบาท
                      ปี 2540 ได้รับเงินงบประมาณ จํานวน 450.000 ล้านบาท
                      รวมทั้งสิ้น 1,874.696 ล้านบาท

การจัดตั้ง “เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์”
            กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ได้ตั้งขึ้นในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยมีเงินทุนแรกตั้ง จํานวน 2,286.350 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาของ
เงินทุนจากแหล่งต่างๆ ดังนี้
                      -โอนเงินทุนหมุนเวียนส่งเสริมการสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 134 (วรรคท้าย) จํานวน 2,118.910 ล้านบาท
                      -เงินทุนส่งเสริมการศึกษาทางสหกรณ์ จํานวน 99.820 ล้านบาท
                      -เงินสมทบจาก ADB จํานวน 67.620 ล้านบาท

ต่อมาได้รับงบประมาณประจําปีเพิ่มเติม ดังนี้
                      -ปีงบประมาณ 2543 จํานวน 50.000 ล้านบาท
                      -ปีงบประมาณ 2544 จํานวน 50.000 ล้านบาท
                      -ปีงบประมาณ 2545 จํานวน 531.610 ล้านบาท (เงินโครงการพัฒนาธุรกิจโคนม ตามโครงการงบกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประจําปีงบประมาณ 2545 จํานวน 600.000 ล้านบาท ส่งคืนรายได้แผ่นดินจํานวน
68.390 ล้านบาท คงเหลือ 531.610 ล้านบาท)ในปี พ.ศ. 2545 พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอํานาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 พ.ศ.2545 ได้โอนกองทุนพัฒนาสหกรณ์ไปตั้งไว้ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2545 และกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับงบประมาณประจําปีเพิ่มเติม ดังนี้
                      -ปีงบประมาณ 2551 จํานวน 50.000 ล้านบาท (โครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตามนโยบายของรัฐ 50.000 ล้านบาท)
                      -ปีงบประมาณ 2552 จํานวน 139.000 ล้านบาท (โครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตามนโยบายของรัฐ 50.000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนเงินกู้แก่สหกรณ์เพื่อส่งเสริมสมาชิกปลูกปาล์มน้ํามันในภาคใต้ 89.000 ล้านบาท)
                      -ปีงบประมาณ 2553 จํานวน 100.000 ล้านบาท (โครงการสนับสนุนเงินกู้แก่สหกรณ์เพื่อส่งเสริมสมาชิกปลูกปาล์มน้ํามันในภาคใต้ 90.000 ล้านบาท และโครงการรวบรวมปาล์มน้ํามัน 10.000 ล้านบาท)
                      -ปีงบประมาณ 2554 จํานวน 116.800 ล้านบาท (โครงการทุนหมุนเวียนสําหรับสหกรณ์ในโครงการพระราชดําริและโครงการหลวง 16.800 ล้านบาท และโครงการบริหารจัดการตลาดผลไม้ของสหกรณ์ 100.00 ล้านบาท) นอกจากนี้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ยังได้รับเงินบริจาคจากสหกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร (Agricultural Sector Program Loan : ASPL)ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 - 2554 รวมเป็นเงิน 484.322 ล้านบาทฐานะการเงินของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ณ วันต้นปีงบประมาณ 2555 มีเงินทุน จํานวน 4,527.983 ล้านบาทประกอบด้วย
                      -เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จํานวน 3,323.765 ล้านบาท
                      -เงิน ADB โครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา จํานวน 12.057 ล้านบาท
                      -เงิน ASPL จํานวน 484.322 ล้านบาท
                      -รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย(สะสมตั้งแต่ปี 2542-2554) จํานวน 707.839 ล้านบาท

logo

สัญลักษณ์กองทุนพัฒนาสหกรณ์(กพส.)
          คณะกรรมการบริหาร กพส. ได้จัดประกวดสัญลักษณ์ของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เพื่อเป็นเอกลักษณ์สำหรับใช้ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับ กพส. โดยผู้ชนะเลิศ ได้แก่ นายบำรุง อิสรกุล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล 5,000 บาท ตามประกาศคณะกรรมการตัดสินการประกวดเครื่องหมายกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เรื่อง ผลการตัดสินการประกวดเครื่องหมายกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ประกาศ ณ วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
รูปแบบสัญลักษณ์ของกองทุนพัฒนาสหกรณ์เป็นถุงเงินรูปหยดน้ำสีน้ำเงินฟ้ารูปเกลียวเชือกอยู่ใน แนวคิดการออกแบบ คือ
            ถุงเงิน แสดงถึง การดำเนิงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการเงินกองทุน
            รูปหยดน้ำ แสดงถึง ความมีน้ำใจ ความร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาองค์กร
            เกลียวเชือก แสดงถึง ความสามัคคี ความร่วมมือในการดำเนินงาน
            ขั้นบันได แสดงถึง การพัฒนาสู่เป้าหมายสูงสุดซึ่งนำไปสู่ความเป็นเลิศ
            สีน้ำเงินฟ้า แสดงถึง บุคลิกที่สุขุมขององค์กร ความมีวิสัยทัศน์ ความมีน้ำใจ และความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนา

  • ฮิต: 601

ประเภทของสหกรณ์

 

สหกรณ์แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้

             1. สหกรณ์การเกษตร

             สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ ผู้มีอาชีพทางการเกษตร รวมกันจัด ตั้งขึ้น และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อนายทะเบียนสหกรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและ กัน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของสมาชิก และช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น ความเป็นมา สหกรณ์การเกษตรแห่งแรกได้จัดตั้งขึ้นในปี พงศ. 2459 ชื่อว่า สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ในจังหวัดพิษณุโลก เป็นสหกรณ์ การเกษตรชนิดไม่จำกัด มีขนาดเล็กในระดับหมู่บ้านตั้งขึ้นในหมู่เกษตรกรที่มี รายได้ต่ำและมีหนี้สินมากมีสมาชิกแรกตั้ง จำนวน 16 คน ทุนดำเนินงาน จำนวน 3,080 บาท เป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า จำนวน 80 บาท และเป็นทุนจากการกู้แบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) จำนวน 3,000 บาท

             วัตถุประสงค์

             สหกรณ์การเกษตรดำเนินธุรกิจแบบอเนกประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินธุรกิจร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และช่วยเหลือส่วนรวมโดยใช้หลักคุณธรรม จริยธรรมอันดีงามตามพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกและส่วนรวมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์

             ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ

             ทำให้สมาชิกมีปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น จากการกู้เงินสหกรณ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาประกอบอาชีพ ทำให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีที่ดินทำกินมากกว่าเดิม ทั้งในรับความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการผลิต ตั้งแต่การใช้พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การใช้ปุ๋ย การใช้ยางปราบศัตรูพืชการเก็บรักษาผลผลิตอย่างมีคุณภาพ ผลิตผล ที่ได้จึงเป็นไปตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้สหกรณ์และบุคคลในครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการอนามัย

             2. สหกรณ์ออมทรัพย์

             สถาบันการเงินแบบหนึ่งที่มีสมาชิกเป็นบุคคลซึ่งมีอาชีพอย่างเดียวกันหรือที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์ และให้กู้ยืมเมื่อเกิดความจำเป็นหรือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์งอกเงยและได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ สามารถกู้ยืมเงินได้เมื่อเกิดความจำเป็นตาม หลักการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความเป็นมา สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งแรกในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นในหมู่ข้าราชการสหกรณ์และพนักงานธนาคารเพื่อการสหกรณ์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2492 คือ สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัดสินใช้ และได้แพร่ หลายไปในหน่วยงานของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ส่วนสหกรณ์ ออมทรัพย์ในชุมชนแห่งแรก คือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแม่มูล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522

             วัตถุประสงค์

             เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ โดยการับฝากเงินและให้ผลตอบแทน ในรูป ของดอกเบี้ยอัตราเดียวกับธนาคารพาณิชย์ และโดยการถือหุ้นหัก ณ ที่จ่าย เป็นรายเดือน แต่ไม่เกิน 1 ใน 5 ของหุ้นทั้งหมด เมื่อสิ้นปีทางบัญชีต้อง จ่ายเงินปันผลค่าหุ้นให้แก่สมาชิกในอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมทั้ง ให้บริการด้านเงินกู้แก่สมาชิกตามความจำเป็น

             ประโยชน์ที่สมาชิกจะไดรับ

             เป็นแหล่งเงินฝากและเงินกู้ของสมาชิก ทำให้สมาชิกรู้จักเก็บออมเงิน และไม่ ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ทำให้สถาบันครอบครัวมีความมั่นคงขึ้น

             3. สหกรณ์ประมง

             สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ชาวประมง เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพ ซึ่งชาวประมงแต่ละคนไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ตามลำพัง บุคคลเหล่านี้จึงรวมกันโดยยึดหลักการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความเป็นมา สหกรณ์ประมงแห่งแรกได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2492 ชื่อว่าสหกรณ์ประมงพิษณุโลกจำกัด ในท้องที่ลำคลองกระบังโป่งนก อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นสหกรณ์ประมงประเภทน้ำจืด มีสมาชิกแรกตั้ง จำนวน 54 คนดำเนินการจัดสรรที่ทำกิน การจำหน่าย การแปรรูป และขออนุญาตสัมปทานให้สมาชิกจับสัตว์น้ำได้โดยสะดวก

             วัตถุประสงค์

             สหกรณ์ประสงดำเนินการให้ความรู้ทางด้านวิชาการในเรื่องการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสม และมีคุณภาพในการเพาะเลี้ยง การเก็บรักษาและการแปรรูปสัตว์น้ำแก่สมาชิก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางด้านธุรกิจการประมงคือ การจัดหาเงินทุนให้สมาชิกกู้ไปลงทุนประกอบอาชีพ การจัดหาวัสดุการประมงมาจำหน่ายการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การรับฝากเงินและสงเคราะห์สมาชิกเมื่อประสบภัยพิบัติ

             ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ

             ทำให้สมาชิกมีแหล่งเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนประกอบอาชีพ ซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของจำเป็นที่สหกรณ์นำมาจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม เมื่อมีผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์สหกรณ์จะรวบรวมขายให้ในราคาที่สูงขึ้น บริการรับฝากเงินเพื่อความสะดวก ปลอดภัยให้แก่สมาชิก และสมาชิกจะได้รับการศึกษาอบรมเกี่ยวกับการประกอบอาชีพการประมง ตามหลักวิชาการแผนใหม่ให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปริมาณตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของทุกคนตามหลักการและวิธีการสหกรณ์

             4. สหกรณ์ร้านค้า

             สหกรณ์ที่มีผู้บริโภครวมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหาสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป โดยจดทะเบียนตามกฎหมายสหกรณ์ในประเภท สหกรณ์ร้านค้า มีสภาพเป็นนิติบุคคลซึ่งสมาชิกผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นเจ้าของ สมาชิกลงทุนร่วมกันในสหกรณ์ด้วยความสมัครใจเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคและเพื่อผดุงฐานะทางเศรษฐกิจของตนและหมู่คณะ ความเป็นมา สหกรณ์ร้านค้า จัดตั้งขึ้นโดยชาวชนบท อำเภอเสนา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ในปีพ.ศ.2480 และได้เลิกล้มไป ต่อมารัฐบาลได้ช่วยเหรือ มีนโยบายที่จะช่วยเหลือด้านการครองชีพให้กับประชาชน โดยการส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วน ภูมิภาคทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งสหกรณ์ร้านค้าที่ตั้งขึ้นในเมืองที่ประชาชน หนาแน่นจะประสบความสำเร็จมากกว่าสหกรณ์ร้านค้าที่ตั้งในชนบท

             วัตถุประสงค์

             สหกรณ์ร้านค้าจะจัดหาสิ่งของและบริการที่สมาชิกมีความต้องการมาจำหน่าย ช่วยจำหน่ายผลิตผล ผลิตภัณฑ์ของสมาชิก ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางด้านสหกรณ์ และด้านการค้าให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ปลุกจิตสำนึกให้ สมาชิกรู้จักประหยัด ช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมมือและประสานงานกับสหกรณ์และหน่วยงานอื่นทั้งภายในและนอกประเทศ ในอันที่จะเกื้อกูลกันและกัน

             ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ

             ทำให้สมาชิกมีสถานที่ซื้อขายสินค้าจำเป็นตามราคาตลาดในชุมชน ซึ่ง เป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ เที่ยงตรงในการชั่ง ตวง วัด ตามความต้องการของสมาขิก เมื่อสิ้นปีสหกรณ์มีกำไรสุทธิประจำปี สมาชิกจะได้รับเงินปันผลตาม หุ้น และเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนที่ได้ทำธุรกิจกับสหกรณ์ การซื้อขายด้วยเงิน สดสินค้าจะมีราคาที่ถูกกว่าเงินผ่อน ทำให้สมาชิกมีความรอบคอบในการจัดหาสินค้าราคาถูกมาจำหน่ายเพื่อประโยชน์ ของสมาชิก

             5. สหกรณ์นิคม

             สหกรณ์การเกษตรในรูปแบบหนึ่ง ที่มีการดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร การจัดสร้างปัจจัยพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการดำเนินการจัดหาสินเชื่อ ปัจจัยการผลิตและสิ่งของที่จำเป็น การแปรรูปการเกษตร การส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งกิจการให้บริการสาธารณูปโภคแก่สมาชิก

             ความเป็นมา

             ได้เริ่มดำเนินงานเป็นแห่งแรกที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยดำเนินการจัดซื้อที่นาราชพัสดุ จากกระทรวงการคลัง เนื้อที่ 4,109 ไร่เศษ มาจัดสรรให้สมาชิก 69 ครอบครัวในรูปของสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ได้จัดตั้งนิคมสหกรณ์ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 7,913 ไร่ และได้จัดสหกรณ์การเช่าที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพแล้ว ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2518 วัตถุประสงค์ เพื่อการจัดนิคม คือ การจัดหาที่ดินมาจัดสรรให้แก่ราษฎรประกอบอาชีพทางการเกษตร ตลอดจนจัดบริการด้านสาธารณูปโภคแก่สมาชิก เพื่อการจัดสหกรณ์ คือ การรวบรวมราษฎรที่ได้รับจัดสรรที่ดิน จัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ งานจัดนิคม เป็นงานที่ดินทำกินให้ราษฎรโดยวิธีการสหกรณ์ มีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้

             1. การจัดหาที่ดิน

                          1.1 สหกรณ์นิคม โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติจำแนกเป็นที่จัดสรรเพื่อการเกษตร นำมาจัดสรรให้ราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์ และส่งเสริมให้จัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ ซึ่งเมื่อสมาชิกได้ปฏิบัติครบถ้วนตามข้อบังคับของสหกรณ์แล้ว ก็จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้รับจัดสรรนั้นในที่สุด
                          1.2 สหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน โดยอาศัยประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการจัดหาที่ดินให้ราษฎร กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงจัดซื้อที่ดินขององค์การ หรือเอกชนนำมาปรับปรุงจัดสรรให้รวบรวมกันจัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ซึ่งเมื่อสมาชิกได้ส่งชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ดินและปฏิบัติการอื่นครบถ้วนตามข้อบังคับของสหกรณ์แล้ว ก็จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้รับจัดสรรนั้นในที่สุด
                          1.3 สหกรณ์การเช่าที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์จะนำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรมแล้ว มาจัดสรรให้ราษฎร และจัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ สมาชิกจะมีสิทธิ์เข้าครอบครองทำกินในที่ดินที่ได้รับจัดสรรนั้นโดยเสียค่าเช่าในอัตราต่ำ และที่ดินจะตกทอดทางมรดกไปยังลูกหลานได้ตลอดไป แต่ห้ามมิให้โอนกรรมสิทธิ์ สหกรณ์นิคมทั้ง 3 รูปนี้ คงมีเพียง 2 รูปแรกที่สมาชิกจะได้ที่ดิน เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ส่วนในรูปของสหกรณ์การเช่าที่ดินนั้น สมาชิกจะได้เพียงสิทธิการให้ที่ดินโดยการเช่า และสิทธิที่ตกทอดทางมรดกตลอดไปเท่านั้น

             2. การวางผังและปรับปรุงที่ดิน เมื่อได้รับที่ดินแปลงใดมาจัดสหกรณ์แล้วทางราชการจะสำรวจรายละเอียดสภาพภูมิประเทศ ชนิดและลักษณะดิน ปริมาณน้ำฝน จากนั้นจะวางแผนผังการการใช้ที่ดิน ว่าควรดำเนินการสร้างบริการสาธารณูปโภคอย่างไรบ้าง เช่น ถนน การชลประทาน โรงเรียน สถานีอนามัย ฯลฯ

             3. การรับสมัคร และคัดเลือกบุคคลเพื่อรับการจัดสรรที่ดิน

             4. การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน

             5. การกำหนดเงื่อนไขการใช้ที่ดิน และการได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน งานจัดสหกรณ์เมื่อจัดราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ที่จัดหามาเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไป คือ การรวบรวมราษฎรที่ได้รับจัดสรรที่ดินนั้นจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้น และขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เพื่อให้เกษตรกรมีสถาบันของตนเอง ที่จะเป็นสื่อกลางในการอำนวยบริการด้านต่างๆ ส่วนการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์จะมีลักษณะเช่นเดียวกับสหกรณ์การเกษตร

             ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ

             ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีสหกรณ์เป็นสถาบันที่เป็นสื่อกลางในการขอรับบริการต่างๆ จากรัฐบาล และเป็นสถาบันที่อำนวยความสะดวกในด้านการจัดหาสินเชื่อ การรวมกันซื้อ รวมกันขาย การนส่งเสริมการเกษตรและการฝึกอบรม ซึ่งเป็นการเสริมสร้างให้เกิดระบบที่ดีในการจัดหาการผลิต และการตลาดโดยสมาชิก เพื่อสมาชิก ในการประกอบอาชีพอย่างมั่นคงจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

             6. สหกรณ์บริการ

             สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ โดยมีประชาชนไม่น้อยกว่า 10 คน ที่มีอาชีพอย่างเดียวกัน ได้รับ ความเดือดร้อนในเรื่องเดียวกันรวมตัวกันโดย ยึดหลักการประหยัด การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ ปัญหาต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในอาชีพต่อไป

             ความเป็นมา

             สหกรณ์บริการแห่งแรกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2484 เป็นการรวมตัว กันในกลุ่มผู้มีอาชีพทำร่ม ชื่อ สหกรณ์ผู้ทำร่มบ่อสร้าง จำกัดสินใช้ อยู่ที่ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์บริการไฟฟ้าหนองแขม จำกัด อำเภอ หนองแขม กรุงเทพมหานคร เป็นสหกรณ์ที่ให้บริการด้านสาธารณูปโภค และในปี พ.ศ. 2497 จัดตั้งสหกรณ์มีดอรัญญิก จำกัด ที่ตำบลทุ่งช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีสหกรณ์บริการ อีกหลายแบบตามมา เช่น สหกรณ์เคหสถาน สหกรณ์แท็กซี่ สหกรณ์ หัตถกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ สหกรณ์บริการน้ำประปา สหกรณ์ผู้จัดหางาน แห่งประเทศไทย ฯลฯ วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการบริการตามรูปแบบของสหกรณ์ ส่งเสริมสวัสดิการ แก่สมาชิกและครอบครัว ส่งเสริมการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกัน และกันในหมู่สมาชิก ร่วมมือกับสหกรณ์อื่นและหน่วยงานอื่นเพื่อความ ก้าวหน้าของกิจการสหกรณ์

             ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ

             สมาชิกมีสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาฝีมือการผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด มีแหล่งรวม ซื้อรวม ขายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ ช่วยให้สมาชิกสหกรณ์ ประกอบอาชีพได้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อสิ้นปีทางบัญชีถ้าสหกรณ์มี กำไรสุทธิประจำปี สมาชิกสหกรณ์จะได้รับเงินปันผลตามหุ้น และเงิน เฉลี่ยคืนตามส่วนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์

             7. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

             สหกรณ์อเนกประสงค์ ตั้งขึ้นโดยความสมัครใจของสมาชิกที่อยู่ในวงสัมพันธ์เดียวกัน เช่น อาศัยในชุมชนเดียวกัน ประกอบอาชีพเดียวกัน หรือในสถานที่เดียวกัน หรือมีกิจกรรมร่วมกันเพื่อการรู้จักช่วยเหลือตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้สมาชิกประหยัดและออม เพื่อการรู้จักช่วยตนเองเป็นเบื้องต้นและเป็นพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงแก่ตนเองและครอบครัว

             ความเป็นมา

             สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นอีกสหกรณ์ประเภทหนึ่งตามประกาศกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2548 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมคน เพื่อทำกิจกรรมเรื่องการออมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ในประเทศไทยได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มขึ้นแห่งแรกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2508 " กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนแห่งศูนย์กลางเทวา " และได้แพร่ขยายการจัดตั้งสหกรณ์และกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนทั่วประเทศไทยขึ้นเป็นจำนวนมากภายใต้ปรัชญาและอุดมการณ์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่มุ่งจะพัฒนาคนให้ช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการและวิธีการสหกรณ์ รวมทั้งเพื่อพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง

             ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ

             1.เป็นคนรู้จักประหยัดและออม สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจัดตั้งในชุมนุมของสมาชิก สมาชิกของสหกรณ์จึงมีที่สะสมเงินที่สะดวกและรวดเร็วไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปฝากเงินที่ไกลๆ แม้มีเงินจำนวนน้อยหรือมากก็ตาม สมาชิกก็สามารถที่จะสะสมได้

             2. ช่วยแก้ไขปัญหาการเงิน เมื่อสมาชิกมีความเดือดร้อนหรือความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินสมาชิกมีสิทธิที่จะขอกู้เงินจากสหกรณ์ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

             3. สร้างความมั่นคงแก่สมาชิกและครอบครัว สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแต่ละแห่งจะจัดให้มีบริการในรูปแบบต่างๆแล้วแต่ความต้องการของสมาชิกและเงินทุนที่สหกรณ์มีอยู่ ซึ่งมีส่วนสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นแก่ครอบครัวและสมาชิก

             4.สามารถพัฒนาชุมชนและสังคม กิจกรรมของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนช่วยให้ประชาชนในชุมชนเกิดการประหยัดและออม เพื่อสร้างกองทุนขึ้นในชุมชน เพื่อช่วยเหลือบำบัดความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้น เพื่อให้รู้จักการแก้ไขและตัดสินใจช่วยเหลือกันในชุมชนของตนเอง เป็นการฝึกผู้นำในชุมชน

  • ฮิต: 1227

ความหมายของสหกรณ์

ความหมายของคำ "สหกรณ์"

              สหกรณ์ คือ "องค์กรๆ หนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ เพื่อดำเนินงานทั้งในด้านความคิด ระบบบริหารจัดการผลผลิต และบุคคลโดยใช้หลักประชาธิปไตย เพื่อสนองความต้องการ (อันจำเป็น) ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม"

บทนิยามของคำ "สหกรณ์" (แก้ไขใหม่)

             สหกรณ์ น.องค์กรทางเศรษฐกิจและสังคมที่สมาชิกร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยการลงหุ้นร่วมกัน จัดการร่วมกันในการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือบริการตามความต้องการหรือผลประโยชน์อย่างเดียวกันของบรรดาสมาชิก สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิ์ออกเสียงได้หนึ่งเสียงในการบริหารสหกรณ์ โดยไม่ขึ้นกับจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์โคนม, (กฎ) คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์.

หมายเหตุ จากหนังสือราชบัณฑิตยสถาน ที่ รถ ๐๐๐๔/๘๐๐ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๐


cooperative meaning      

adjective
working or acting together willingly for a common purpose or benefit.
demonstrating a willingness to cooperate:The librarian was cooperative in helping us find the book.
pertaining to economic cooperation:a cooperative business.
involving or denoting an educational program comprising both classroom study and on-the-job or technical training, especially in colleges and universities.
noun
a jointly owned enterprise engaging in the production or distribution of goods or the supplying of services, operated by its members for their mutual benefit, typically organized by
consumers or farmers.
Also called co-opcooperative apartment.
  1. a building owned and managed by a corporation in which shares are sold, entitling the shareholders to occupy individual units in the building.
  2. an apartment in such a building.Compare condominium (defs. 1, 2).
  • ฮิต: 897

สงวนลิขสิทธิ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยนาท : ภาพประกอบและวิดีทัศน์ จากเว็บไซต์ freepik.com, flaticon.com
Copyright © 2022 Chainat Provincial Cooperative Office



BACK TO TOP
https://www.cpd.go.th/index.php